ประวัติความเป็นมา:
อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีแต่เดิมนั้นเป็นอาคารเรียนของโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดร ซึ่งเป็นโรงเรียนที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนี พระพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระ มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะให้เป็นโรงเรียนประจำมณฑลอุดร แต่ในปีพุทธศักราช 2462 พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การดำเนินงานจึงจำต้องค้างมา
จนเวลาต่อมาพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (ศุข ดิษยบุตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ผู้สำเร็จราชการมณฑลอุดร และคุณหญิงน้อม ดิษยบุตร (ศรีสุริยราช) ได้ชักชวนข้าราชการพ่อค้า ประชาชนชาวเมืองร่วมบริจาคทรัพย์น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม สร้างอาคารเรียนอุปถัมภ์นารีใหม่เพื่ออุทิศถวายแด่พระองค์ท่านและเมื่อปีพุทธศักราช 2463 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติม และพระราชทานนาม โรงเรียนใหม่ว่า “ราชินูทิศ” และได้ประกอบพิธีฝังรากศิลาจารึกโรงเรียนขึ้นในปี 2464 โดยตัวอาคารสร้างอยู่บริเวณ ริมหนองประจักษ์ และเปิดใช้เป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลอุดรตั้งแต่ปี 2468 เป็นต้นมา
หลังจากใช้เป็นโรงเรียนสตรีอาคารนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยน การใช้งานเป็นสำนักงานการศึกษาธิการเขต และปรับมาเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานีในปี 2547 เป็นต้นมา แต่เนื่องจากเป็นอาคารเก่าแก่ ปัจจุบันอายุกว่า 90 ปี มีสภาพทรุดโทรม เทศบาลนครอุดรธานีในสมัยของนายอิทธิพนธ์ ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศมนตรีได้ร่วมกับกรมศิลปากร จัดให้มีการออกแบบเพื่อบูรณะอาคารและออกแบบ นิทรรศการภายในขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยใช้เวลากว่า 4 ปี ตั้งแต่เริ่มวางแผนการบูรณะและเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมไปแล้วเมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา
อาคารราชินูทิศเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกใกล้เคียงกับรูปแบบที่เรียกว่า Neo-Classic จัดแสดงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับจังหวัดอุดรธานี นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์โบราณคดี ธรรมชาติวิทยา ธรณีวิทยา ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรม รวมถึงพระประวัติและพระเกียรติคุณของกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี
ส่วนอาคารโครงสร้างเหล็กด้านข้างอาคารพิพิธภัณฑ์ คืออาคารศูนย์บริการพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี สร้างแทนตำแหน่งของอาคารวัฒนธรรมจังหวัดอุดรธานีที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม โดยตัวอาคารถูกออกแบบให้มีผนัง 3 ชั้น ซ้อนกัน (Triple Layer) โดยผนังชั้นในสุดเป็นโครงสร้างอิฐก่อ โดยมีอิฐไม้แทรกอยู่เป็นระบบเพื่อเชื่อมโยงถึงระบบโครงสรา้งของอาคารพพิธิภัณฑ์ ผนังชั้นที่สองเป็นผนังกระจกหุ้มอาคารทั้งหมด เพื่อควบคุมระบบปรับอากาศและผนังชั้นสุดท้ายคือผนังเหล็กฉลุหุ้มตัวอาคารทั้งหมดไว้
แหล่งเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์:
1. ส่วนจัดแสดงประวัติศาสตร์เมืองอุดรธานี
- แสดงพัฒนาการของเมืองอุดรธานีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
- นำเสนอเรื่องราวการก่อตั้งเมืองโดยพลตรีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม
- จัดแสดงภาพถ่ายและเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญ
2. ส่วนจัดแสดงวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
- นำเสนอวิถีชีวิตของชาวอุดรธานีในอดีต
- จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต
- แสดงประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ
3. ส่วนจัดแสดงโบราณคดีบ้านเชียง
- จัดแสดงข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง มรดกโลก
- จำลองการขุดค้นทางโบราณคดี
- จัดแสดงภาชนะดินเผาและเครื่องมือเครื่องใช้สมัยก่อนประวัติศาสตร์
4. ห้องนิทรรศการหมุนเวียน
- จัดแสดงนิทรรศการพิเศษที่เปลี่ยนแปลงตามวาระและโอกาสต่างๆ
ข้อมูลการเข้าชม:
- เปิดให้เข้าชมทุกวัน (ยกเว้นวันจันทร์)
- เวลาเปิดทำการ 09.00-17.00 น.
- ไม่เสียค่าเข้าชม
- มีบริการนำชมโดยมัคคุเทศก์อาสาสมัคร (ควรติดต่อล่วงหน้า)
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของจังหวัดอุดรธานี ที่รวบรวมและถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และพัฒนาการของเมืองอุดรธานีได้อย่างน่าสนใจ เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวทั่วไป
Cr. facebook พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี Udonthani , https://www.thaipost.net
ถนน.อธิบดี ตำบลหมากแข้ง อำเภอ เมือง จังหวัดอุดรธานี 41000
udoncity@udoncity.go.th
Tel : 042-325-176 ถึง 85 ต่อ 7001, 8601, 8602
Fax : 042-221-159, 042-326-456
© 2023 Development BY งานเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม กองสารสนเทศภาษีและทะเบียนทรัพย์สิน All Rights Reserved